คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นคณะน้องใหม่ที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยประกอบไปด้วย 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาพัฒนาสังคม และสาขาวิชารัฐศาสตร์ ทว่า ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2545 ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ได้ย้ายจากอาคารเรียนในโรงเรียนพะเยาพิทยาคมมา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน สาขาวิชาพัฒนาสังคมได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้สังกัดสำนักวิชาศิลปศาสตร์ รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต (พัฒนาสังคม)
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
หลังจากนั้น 1 ปี ในปี พ.ศ. 2546 สาขาวิชารัฐศาสตร์ ได้แยกตัวออกมาเป็นอีกสาขาหนึ่งภายใต้สังกัดสำนักวิชาศิลปศาสตร์ รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังได้มีการเปิดหลักสูตรพัฒนาสังคมโครงการพิเศษขึ้น โดยมอบหมายให้วิทยาลัยการศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้บริหารจัดการการเรียนการสอนและให้คณาจารย์ผู้ซึ่งสังกัดสาขาวิชาพัฒนาสังคม เป็นผู้สอนร่วมกับคณาจารย์จากสำนักวิชาอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้ได้ถูกปิดลงเมื่อสิ้นปีการศึกษา 2556
ในปี พ.ศ. 2551 สาขาวิชารัฐศาสตร์ ได้เริ่มการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (นโยบายสาธารณะ) ทั้งแผน ก และแผน ข ขึ้น และเมื่อขึ้นปี พ.ศ. 2555 ได้มีการเปิดหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โครงการพิเศษเพิ่มขึ้น ซึ่งแรกทีเดียว ทั้งสองหลักสูตรอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของวิทยาลัยการศึกษาต่อเนื่อง และถูกโอนย้ายจากวิทยาลัยการศึกษาต่อเนื่องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะศิลปศาสตร์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา
การสังกัดสำนักวิชาศิลปศาสตร์ของสาขาวิชารัฐศาสตร์และพัฒนาสังคมในขณะนั้น อยู่ภายใต้ร่มเดียวกันกับสาขาวิชานิติศาสตร์ (แยกไปตั้งคณะนิติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2551) สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (แยกไปตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2553) สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ซึ่งมีความร่วมมือด้านวิชาการต่อกันเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการที่ได้มีการจัดมหกรรมทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในนาม “สวนศาสตร์ ตลาดศิลป์” ในเดือนสิงหาคมของปี พ.ศ. 2553
อนึ่ง จากเดิมที่สภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติให้เปลี่ยนชื่อจาก “มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา” มาเป็น “มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 นั้น ต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ขึ้น จนต่อมาในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ก็ได้รับการจัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยพะเยา” ตามราชกิจจานุเบกษา โดยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการเต็มรูปแบบ และสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะศิลปศาสตร์จนกระทั่งปัจจุบัน
นับจากวันที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทดลองเพาะกล้าความรู้เป็นเวลากว่า 18 ปี และนับตั้งแต่วันที่สาขาวิชารัฐศาสตร์และสาขาวิชาพัฒนาสังคมได้หัดบินภายใต้อ้อมอกของคณะศิลปศาสตร์กว่า 10 ปี ระยะเวลาดังกล่าวนานพอที่จะเป็นที่แน่ใจได้แล้วว่า แม้ยังคงเป็นปีกบาง แต่สาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ก็แข็งแรงพอและพร้อมแล้วที่จะโบยบินไปแสวงหาความรู้และหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวทางศาสตร์ของตนเอง มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้มีประกาศตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เพื่อแยกสาขาวิชารัฐศาสตร์และพัฒนาสังคมออกมาตั้งคณะใหม่ ในนาม คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์
ในระหว่างปี พ.ศ.2557-2561 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 1 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ถือว่าเป็นคณะน้องใหม่ในปริมณฑลแห่งการแสวงหาความรู้และบนหนทางแห่งปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ของมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้ทิศทางการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ของคณะที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ มีความสามารถด้านไอที ภาษาต่างประเทศ มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะและเป็นที่พึ่งของสังคม
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ย้อนมองกลับไปยังแต่ละก้าวที่ย่างเดินและแต่ละเมล็ดพันธุ์ที่หว่านโปรย จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่ตอบสนองต่อบริบทของคณะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรและนิสิต ดังนี้ “คณะน่าอยู่ น่าเรียน น่าสนุก และมุ่งผลิตรัฐพัฒน์นวัตกรเพื่อชุมชน”
ปัจจุบัน คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดการจัดการเรียนการสอนจำนวน 4 หลักสูตร ระดับปริญญาตรี 3 หลักสูตร ปริญญาโท 1 หลักสูตร ได้แก่
1.หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต ร.บ.(รัฐศาสตรบัณฑิต)
2.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต รป.บ.(การจัดการนวัตกรรมสาธารณะ)
3.หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ศศ.บ.(พัฒนาสังคม)
4.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต รป.ม.(นโยบายสาธารณะ)