คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ เสวนาเจาะลึก! “ภูติผีปีศาจในโซเชียลมีเดีย นัยยะทางสังคม และการเมือง”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2568 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดโครงการเสวนาวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ (กิจกรรมที่ 2) เรื่อง “ภูติผีปีศาจในโซเชียลมีเดีย นัยยะทางสังคม และการเมือง” กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศราวุฒิ วิสาพรม ดำเนินรายการโดย อาจารย์ศิวัชฐ์ วรรณโกมล อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตจากคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรา พงษ์นิล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมเน้นย้ำถึงบทบาทของคณะฯ ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ การถ่ายทอดผลงานทางวิชาการ และการวิจัยด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ระหว่างบุคลากร นิสิต และผู้ที่สนใจทั่วไป พร้อมทั้งมุ่งพัฒนานิสิตให้เป็น “รัฐพัฒน์นวัตกร” นักพัฒนาที่มีทั้งองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ควบคู่กับทักษะด้านนวัตกรรมและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะเอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการของคณะฯ ต่อไป
ทั้งนี้โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและการวิจัยด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ระหว่างบุคลากร นิสิต และผู้ที่สนใจทั่วไป รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นจากการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการของบุคลากร นิสิต และผู้ที่สนใจทั่วไปสู่สาธารณะ
โครงการในครั้งนี้ถือเป็นการเชื่อมโยงประเด็นร่วมสมัยกับองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมุ่งวิเคราะห์ปรากฏการณ์ในยุคดิจิทัลผ่านมุมมองทางการเมืองและสังคม ว่าด้วยบทบาทของ “ภูติผีปีศาจ” ในฐานะสัญลักษณ์ ความกลัว ความเชื่อ และการต่อต้านที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ โครงการนี้ไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้กับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์และการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ให้แก่นิสิต ตลอดจนขับเคลื่อนพันธกิจของคณะฯ ในการผลิตองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับสังคม และสร้างบทสนทนาระหว่างมหาวิทยาลัยกับสาธารณชนอย่างมีชีวิตชีวาและสร้างสรรค์