ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.มนตรา พงษ์นิล คณบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ทองแดง รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม เข้ารับโล่รางวัลระดับเหรีญทอง โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ประจำปี 2566 ในงานพะเยาวิจัยครั้งที่ 13 ณ ห้อง UB 002 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) มหาวิทยาลัยพะเยา
โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีชื่อว่า “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการพัฒนานวัตกรชุมชนด้านการตลาดบนฐานคิดการประสานความร่วมมือสู่ความยั่งยืน : กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์รักษ์โลก ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา” ที่ประกอบด้วยทีมนักวิจัย 10 คน ได้แก่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ทองแดง หัวหน้าโครงการและนักวิจัย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์ศรี เกียรติบุตร นักวิจัย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญพัทธ์ มุ่งพัฒนสุนทร นักวิจัย
- รองศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ จันทร์แดง นักวิจัย
- อาจารย์สาริณีย์ ภาสยะวรรณ นักวิจัย
- ดร.อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ นักวิจัย
- ดร.สุธินี ชุติมากุลทวี นักวิจัย
- อาจารย์พิพัฒน์ ธนากิจ นักวิจัย
- คุณภัทธิญา จินดาคำ เลขานุการ
- คุณพรโอบอุ้ม วงศ์วิลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ
ผลิตภัณฑ์ที่นำมายกระดับในโครงการนี้ คือ “ชุดฮักขิงแกง” ซึ่งเป็นเสื้อผ้า Collection หนึ่งของกลุ่มผ้าพิมพ์รักษ์โลก ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินพื้นที่เอกชน ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โดยพัฒนาขึ้นในปี 2566 ร่วมกับนักวิจัยคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ชุดฮักขิงแกงนี้ผลิตจากผ้าพิมพ์ใบไม้รักษ์โลกที่ใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติ ซึ่งสามารถหาได้ภายในชุมชน เช่น ใบสักทอง ใบเพกา และดอกแม่ม่าย แล้วนำมาพิมพ์ลายใบไม้บนผืนผ้าด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ 100% ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลไทยมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 และให้ความสำคัญกับการมุ่งขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ที่อาศัยการระเบิดจากภายในและตอบสนองต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดำรงอัตลักษณ์ของพื้นที่ไว้นั้น นับว่าเป็นปัจจัยหนุนเสริมสำคัญให้กลุ่มผ้าพิมพ์รักษ์โลก ตำบลพระธาตุขิงแกง มีจุดมุ่งเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย มีมูลค่าสูง มีการหมุนเวียนวัสดุเศษเหลือนํามาใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงไม่ก่อให้เกิดขยะ และมีการต่อยอดเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรมล้านนาที่มีอยู่ในชุมชน เนื่องจากพื้นที่อำเภอจุน มีวัดพระธาตุขิงแกงซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ในองค์พระธาตุได้บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุกระดูกเท้าข้างขวาของพระพุทธเจ้าไว้ โดยมียักษาที่คอยปกปักรักษาองค์เจดีย์พระธาตุขิงแกงไว้