คณะกรรมการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ทองแดง หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญพัทธ์ มุ่งพัฒนสุนทร, รองศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ จันทร์แดง, ดร.สุธินี ชุติมากุลทวี, อาจารย์พิพัฒน์ ธนากิจ, ดร.อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ และนางสาวภัทธิญา จินดาคำ ลงพื้นที่ ณ ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เพื่อดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 เกี่ยวกับ “การยกระดับผลิตภัณฑ์ ผ่านกระบวนการพัฒนานวัตกรชุมชนด้านการตลาดบนฐานคิดการประสานความร่วมมือสู่ความยั่งยืน : กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์รักษ์โลก” ประจำปีงบประมาณ 2566 ในวันวันอาทิตย์ที่ 18 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 เวลา 7.00 – 18.15 น.
วัตถุประสงค์การดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 นี้ คือเพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่อง หลักการออกแบบ สี และยกตัวอย่างเทรนตามกลุ่มลูกค้า และเพื่อเคราะห์กลุ่มลูกค้า ซึ่งจะทำให้ได้แนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยประเภทผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนคัดเลือกสำหรับการทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ในโครงการนี้ คือ “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ คุณอิทธิพล อิ่นติ๊บ เจ้าของแบรนด์ made by hud พร้อมด้วยผู้ช่วยวิทยากร คุณนิภา วาเพ็ชร ช่างตัดเย็บ ให้การบรรยายเกี่ยวกับหลักการออกแบบและนำกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ
กิจกรรมในครั้งนี้ ได้บูรณาการระหว่างงานวิจัย งานบริการวิชาการ และการเรียนการสอน จำนวน 3 รายวิชา จากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนาสังคม) และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมสาธารณะ) ของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย (1) รายวิชา 191429 การวิจัยกับการพัฒนาในองค์การ จำนวนนิสิต 19 คน โดยมีผู้รับผิดชอบรายวิชาคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ทองแดง (2) รายวิชา 191332 การศึกษาและวิเคราะห์ชุมชน จำนวนนิสิต 4 คน โดยมีผู้รับผิดชอบรายวิชาคือ อาจารย์พิพัฒน์ ธนากิจ และ (3) รายวิชา 193352 การบริหารโครงการเชิงนวัตกรรม จำนวนนิสิต 13 คน โดยมีผู้รับผิดชอบรายวิชา ดร.สุธินี ชุติมากุลทวี
นิสิตจากทั้ง 3 รายวิชาข้างต้น ได้ร่วมกันสังเกตการณ์ รับฟังการบรรยายหลัการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และทำกิจกรรมวาดแบบเสื้อผ้าที่จะนำไปยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบจริง ซึ่งบรรยากาศภายในงาน เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพราะนิสิตได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น จากภาคบรรยายเชิงทฤษฎี ลงสู่ภาคการปฏิบัติ ที่ได้ทดลองทำกิจกรรมจริง ไม่ว่าจะเป็น การคิดโจทย์หรือประเด็นความต้องการของลูกค้า ที่สอดคล้องกับรายวิชา “การวิจัยกับการพัฒนาในองค์การ”, การศึกษากระบวนการทำงานของสมาชิกกลุ่มผ้าพิมพ์รักษ์โลก ตำบลพระธาตุขิงแกง รวมถึงการค้นหาและประยุกต์ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์รักษ์โลก ที่สอดคล้องกับรายวิชา “การศึกษาและวิเคราะห์ชุมชน” ตลอดจน การศึกษาสถานการณ์จริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเพื่อตอบสนองปัญหาและความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับรายวิชา “การบริหารโครงการเชิงนวัตกรรม”
จะเห็นได้ว่า การบูรณาการระหว่างงานวิจัย งานบริการวิชาการ และการเรียนการสอน จำนวน 3 รายวิชา ดังกล่าว ช่วยให้นิสิตมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกห้องเรียนร่วมกัน ผ่านการทดลองปฏิบัติในพื้นที่ทางสังคม ณ ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โดยเป็นไปอย่าง “น่าเรียนและน่าสนุก” สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
การดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2566 ในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการทุกประการ ทั้งนี้ คณะกรรมการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างงานวิจัย งานบริการวิชาการ และการเรียนการสอน ภายใต้ “การยกระดับผลิตภัณฑ์ ผ่านกระบวนการพัฒนานวัตกรชุมชนด้านการตลาด บนฐานคิดการประสานความร่วมมือสู่ความยั่งยืน : กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์รักษ์โลก ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา” ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการนี้